คนจรจัด คนยากจน หรือ ขอทานที่ขอเงินตามถนนนั้น หลายๆคนก็กลัวว่าจะเป็นแก๊งค์หลอกลวง จึงไม่ให้ทานกัน บางคนก็คิดว่าให้ทานไปเถอะ ยังไงเราก็ได้บุญแล้ว บางคนก็ไม่เคยให้เลยแม้แต่ขอทาน หรือ แม้แต่พระก็ไม่เคยให้ ไม่เคยใส่บาตร ลองมาดูกันครับว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลผู้เสมอด้วยฝนไม่ตก ๑ ผู้ดุจฝนตกในที่บางส่วน ๑ ผู้ดุจฝนตกใน ที่ทั่วไป ๑ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเสมอด้วยฝนไม่ตกเป็นอย่างไร บุคคลบางคน ในโลกนี้ ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป แก่สมณะพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วนิพกและ ยาจกทุกหมู่เหล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เสมอด้วยฝนไม่ตกเป็นอย่างนี้แล ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ดุจฝนตกในที่บางส่วนเป็นอย่างไร บุคคล บางคนในโลกนี้ เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป แก่สมณะพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วนิพก และยาจกบางพวก ไม่ให้แก่บางพวก ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ดุจฝนตกในที่ บางส่วนเป็นอย่างนี้แล ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ดุจฝนตกในที่ทั่วไปเป็นอย่างไร บุคคล บางคนในโลกนี้ ย่อมให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป แก่สมณะพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วนิพก และยาจกทั้งปวง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลดุจฝนตกในที่ทั่วไปเป็นอย่าง นี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ
และยังได้ตรัสพระคาถาอีกว่า:
บุคคลได้พบสมณะ พราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วนิพกแล้ว ย่อมไม่แบ่งข้าว น้ำ และเครื่องบริโภคให้ บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวบุคคลผู้เป็นบุรุษต่ำช้านั้นแลว่า เป็น ผู้เสมอด้วยฝนไม่ตก
บุคคลใดย่อมไม่ให้ไทยธรรมแก่ บุคคลบางพวก ย่อมให้แก่บุคคลบางพวก ชนผู้มีปัญญา ทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นว่า ดุจฝนตกในที่บางส่วน
บุรุษผู้มี วาจาว่า ภิกษาดี ผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั่วหน้า มีใจยินดีประดุจ เรี่ยรายไทยธรรมกล่าวอยู่ว่า จงให้ๆ ดังนี้ บุคคลบางคน ในโลกนี้ เป็นผู้เช่นนั้น รวบรวมทรัพย์ที่ตนได้แล้วด้วย ความหมั่นโดยชอบธรรม ยังวนิพกทั้งหลายผู้มาถึงแล้ว ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำโดยชอบ เปรียบเหมือนเมฆ บันลือ กระหึ่มแล้ว ย่อมยังฝนให้ตก ยังน้ำให้ไหลนอง เต็มที่ดอนและที่ลุ่มฉะนั้น ฯ
ดังนั้น เราควรทำทานนะครับ ไม่ว่าผู้รับจะเป็นใครก็ตาม บัณฑิตย่อมสรรเสริญการทำทานครับ... เจริญธรรม
ที่มา: อวุฏฐิกสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ (พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต)